วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สร้างพระผง


1. บทนำ
ในปี 2550 กระแสจตุคามรามเทพดังมาก มีการสร้างกันทั่วประเทศ ก็เลยอยากจะเล่ากรรมวิธีการสร้างหรือปั้มพระเทพ ไว้ประดับความรู้ และเผลอๆ อาจมีนักสร้างพระใหม่ๆ เข้ามาในวงการ
2. สูตรพระผง
2.1 สูตรซีเมนต์ขาวและกาว
มีดังนี้
· ผงหินปูน 320 เมช จากโรงบด หรือผงจาก Bag Filter ในโรงบดหินปูนก็ได้ จำนวน 500 ลบ.ซม.
· ดินสอพองเนียน(ไล่ก้อนใหญ่ออกแล้ว) 250 ลบ.ซม.
· ผงซิเมนต์ขาวตราช้าง 25 ลบ.ซม.
· มวลสาร มีว่าน แร่ อิฐ ผง 10 ลบ.ซม.
· ผงสี อาจเป็นกาวยาแนวกระเบื้องสีต่างๆ
· กาวลาเท๊กซ์ TOA 120 ลบ.ซม.
· ผงหอม หรือกลิ่น 5 เกสรดอกไม้ 1 ช้อนชาหรือ 1/2 ลบ.ซม.
· น้ำมันตังอิ้ว 10 ช้อนโต๊ะ หรือ 10 ลบ.ซม.
· น้ำธรรมดา
· กล้วยน้ำว้าสุก (หากต้องการหน่วงเวลา) 4 ลูก ไม่ใส่ก็ได้
วิธีการ เริ่มจาก ผสมผงหิน กับผงดินสอพอง ซีเมนต์ขาว ผงสี และมวลสาร ลงในเครื่องผสม(แบบที่ใช้นวดแป้ง มีขายทั่วๆไป) กวนคนให้เข้ากัน แล้วใส่ ผงหอม เยาะลงไป ใส่น้ำเยาะลงไปทีละน้อย สักครู่ก็ เทกาวลาเท๊กซ์ลงไปทีละน้อยจนหมด ตามด้วยน้ำมันตังอิ้ว หากใส่กล้วยก็ปอกเปลือกออกก่อนแล้วใส่ลงไป นวดประมาณ 5 – 10 นาที ดูว่านวดแล้วเข้ากันดี ปั้นเป็นก้อนเหมือนดินน้ำมัน ไม่เหลวเกินไป ไม่แข็งเกินไป ระวัง ปูนซิเมนต์ขาวจะค่อยแข็งตัวตามเวลาด้วย เยาะน้ำเพื่อปรับความข้นเหลวให้พอดี
การขึ้นรูป ให้ทดสอบว่าไม่ข้นไม่เหลวโดยการปั้นลูกกระสุนดู จะเห็นไม่แตกลายงา ลองปั้นคลึงด้วยมือให้เป็นเส้นยาวๆ หากได้เส้นสั้นแสดงว่าเข็งไป และไม่แตกลายงา ต้องได้ยาวพอควร บีดดูเหมือนเล่นดินน้ำมัน หากไม่มีความรู้สึกแบบนี้ ต้องไปวิเคราะห์ส่วนผสม และชนิดวัตถุดิบใหม่ ไม่ต้องเตรียมวัตถุดิบมาก กะพอใช้หมด ภายในไม่เกิน 1 ชั่วโมง ห้ามทิ้งวัตถุดิบค้างคืน เพราะจะแข็งตัวหมด และไม่ควรใช้ของผสมนานกว่าหนึ่งชั่วโมง เพราะปูนจะเริ่มหน่ายตัว แรงยึดเกาะกันเองไม่ดี
ใช้น้ำมันแก้ว เนื้อใส หรือ วาสลิน หรือ น้ำมันจักร ทาแม่พิมพ์ หรือบางครั้งลูบๆ ก้อนดินก่อนปั้ม เพื่อให้เข้าแม่พิมพ์ได้สะดวก การทาใช้แปรงขนอ่อน หรือภู่กันทำความสะอาดแม่พิมพ์ และทาแม่พิมพ์บางๆ ด้วย เพื่อป้องกันดินติดแม่พิมพ์ อย่าหนา เดี๋ยวดินจะไม่เข้าในส่วนลึกๆ ของแม่พิมพ์
ห้ามใช้น้ำมันตังอิ้ว น้ำมันพืช น้มันเครื่อง ทาแม่พิมพ์ เพราะเป็นน้ำมันหนืด จะทำให้ดินติดแม่พิมพ์
มาศึกษาคุณสมบัติวัตถุดิบแต่ละตัวว่าทำหน้าที่อะไร จะได้เล่นปรับสูตรได้ตามสไตล์คนช่างคิด ดังนี้

· ผงหินปูน ไว้เป็นเนื้อส่วนใหญ่ ให้น้ำหนัก
· ดินสอพอง ไว้ปรับหน้าพระให้เนียนนุ่ม ไม่เป็นรู
· ผงซิเมนต์ขาวตราช้าง เป็นตัวเชื่อมประสาน จะแข็งตัว ภายใน 1 ชั่วโมง หากกวนไว้ตลอด จะอยู่ได้สัก 2 ชั่วโมง ผงซิเมนต์จะทำหน้าที่ให้พระแข็งตัวไปเรื่อยๆ หลังถอดพระออกจากแม่พิมพ์แล้ว ประมาณ 24 ชั่วโมง ก็จะแข็งตัวเต็มที่ ถ้าให้ดี จะทำปฏิกิริยาจบใน 28 วัน
· มวลสาร เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของพระ
· ผงสี เพื่อสร้างสีให้พระ หากเป็นสีขาวก็ไม่ต้องใส่ สีที่ใช้อาจเป็นสีแดง สีเขียว สีดำ สีเหลือง
· กาวลาเท๊กซ์ TOA เป็นตัวประสานเนื้อพระ โดยจะซึมซับไปกับน้ำ เข้าทั่วถึงทุกอณู นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความเหนียวให้พระผง ยึดติดกันเอง เนื้อไม่ฉีกขาดง่ายในขณะถอดพระออกจากแม่พิมพ์ แต่หากเนื้อผงไม่มีมัน จะทำให้ติดแม่พิมพ์ แล้วพระจะฉีกติดพิมพ์ ดังนั้นก็ต้องเข้าคู่กับน้ำมันตังอิ้วด้วย
· ผงหอม เพื่อสุนทรียภาพ ของพระเครื่อง ที่บางคนชอบดมพระ บางท่านอาจใช้ผงไม้ทาโรก็ได้
· น้ำมันตังอิ้ว ทำให้เนื้อวัตถุดิบที่จะกดพระ มันวาว เหมือนดินน้ำ้มัน ทำให้ติดแม่พิมพ์ยาก เอาไว้แก้จุดด้อยจากการเติมกาวลาเท๊กซ์ ด้วย น้ำมันนี้จะเป็นน้ำมันหนัก หากมีมากไปอาจเนอะหนะ ติดแบบง่าย ทำให้เนื้อผสมไม่ติดกัน ดังนั้นอย่าใส่มากเกินไป น้ำมันตังอิ๊วอยู่ในเนื้อพระ จะทำให้พระเหมือนมีโลชั่นรักษาเนื้อ ทำให้พระมันวาวได้ หากเป็นพระเก่าแล้วขัดด้วยใบตองแห้ง
· น้ำธรรมดา ทำให้ซีเมนต์ขาวแข็งตัว ช่วยกระจายเนื้อกาวลาเท๊กซ์ ให้ทั่วถึงทุกอณูเนื้อผง น้ำต้องใส่พอดี ไม่เหลวเกินไป และไม่แข็งเกินไป อาจต้องปรับความนุ่มพอดีด้วน้ำเป็นระยะๆ เพื่อให้พิมพ์ออกมาสวนเนียนคมเข้าแบบพิมพ์ คมชัดลึกดี
· กล้วยน้ำว้าสุก หากต้องการหน่วงเวลาให้การทำงานนานขึ้น กล้วยจะช่วยเพิ่มความนุ่ม ความเหนียว ทำให้เข้าแบบดี ลักษณะเหมือนกาวธรรมชาติ การใช้กล้วยระวัง กล้วยจะขึ้นราขาวราดำ ดังนั้นจะต้องทำให้พระพิมพ์อยู่ในที่แห้ง หากเก็บไว้ในที่อบอับชื้น ราจะขึ้น ดูไม่สวยงาม
2.2 สูตรปูนโบราณ
มีดังนี้
· ผงปูนขาว (CaO) จากการเผาหินปูน 4 กก.
· ผงปูนขาวเปลือกหอย จากการเผาเปลือกหอย 1 กก.
· มวลสาร 0.1 กก.
· กล้วยน้ำว้าสุก 0.5 – 1.0 กก.
· น้ำผึ้ง 20 ลบ.ซม.
· น้ำมันตังอิ้ว 20 ลบ.ซม.
กรณีจำเป็น ใช้ผงกาว 4 ช้อนโต๊ะ
น้ำ 20 ลบ.ซม.
ปูนขาว เมื่อทำปฏิกิริยากับกล้วยและน้ำผึ้งแล้วจะค่อยๆ แข็งตัว ภายใน 3 วัน ทั้งนี้จะต้องผ่านการนวดหรือตำด้วยให้คลุกเคล้า ปูนโบราณนั้นเขานิยมใช้ผงปูนขาวโคกกับเยื่อกระดาษที่แช่น้ำแล้วและน้าอ้อย สามารถปั้นทำงานศิลปะได้ หรือเอาไปก่อไปฉาบผนังกำแพงวัดได้ ควรตรวจสอบการแข็งตัว โดยการนำก้อนปูนโบราณหรือพระที่ทำจากปูนโบราณ ที่แข็งตัวแล้วประมาณ 3 – 7 วัน เอาไปแช่น้ำ 3 วัน แล้วดูว่า ยุ่นหรือไม่ ถ้ายุ่ยแสดงว่าใช้ไม่ได้ ต้องปรับสูตรใหม่ สิ่งที่แทนกล้วยได้ก็คือ น้ำมะขามเปียก
การทำวัสดุผสมโดยนำผงปูนขาว ผงปูนขาวเปลือกหอย และมวลสาร มาคลุกเคล้าให้เข้ากันดี กรณีจำเป็นก็เติมสีลงไป จากนั้นใส่กล้วยน้ำว้าสุกลงไปกวนจนเนื้อเข้ากันดี ดูเหนียวนุ่ม จากนั้นใส่น้ำผึ้ง ผสมลงไป สุดท้ายก็ใส่น้ำมันตังอิ้ว ทดสอบความพร้อมขึ้นรูปโดยการปั้นเป็นลูกกระสุน หรือปั่นเป็นเส้นยาวๆ หรือลองเอาวัสดุไปขึ้นแม่พิมพ์ดู หากไม่ดีให้ปรับแก้สูตร จนพร้อมทำการปั้มพระอย่างต่อเนื่อง
3. ปัญหาการพิมพ์พระ
หากพิมพ์ออกมาแล้ว ไม่สวยงาม ให้ทำการวิเคราะห์สาเหตุ ว่าเกิดจาก เนื้อวัสดุ วิธีการพิมพ์ วิธีการหยิบพระออก หรือ เครื่องมือเยื้องศูนย์ หรือโยกขยับไปมาได้
หากวัสดุเหลวไป ขึ้นรูปแล้วจะเบี้ยว เวลาหยิบพระออกจากแม่พิมพ์ ตัวพระจะอ่อนตัวลงมา หรือน้ำหนักพระกดรูปด้านหลังพระส่วนที่วางติดพื้น แบนและลดความคมชัด สาเหตุเกิดจากใส่กล้วยมากไป ใส่น้ำช่วยมากไป ทางแก้ อาจใช้ซีเมนต์ขาวผสมเข้าไป เพื่อให้ทรงตัวเวลาปูนเริ่มแข็งตัว หรือใส่กาว พอกาวเริ่มแข็งตัว ก็จะทรงตัวได้ หรือใส่ปูนเปลือกหอย หรือผงหินแป้งลงไป เพื่อเพิ่มการคงรูป
หากวัสดุแข็งไป หน้าพระจะไม่เรียบ เนื้อขรุขระ มีรอยแตกร้าวในส่วนที่แม่พิมพ์อยู่ลึก หรือส่วนนูนของรูปพระ สาเหตุเกิดจาก ปูนเริ่มแข็งตัวแล้ว ใส่น้ำน้อยไป
พระหน้าแตก เกิดจาก เนื้อดินเข้าส่วนลึกได้น้อย จากการขึ้นรูปทีเดียว ทางแก้ใช้นิ้วกดย้ำบริเวณหน้าก่อนกดพิมพ์ หรือทำแท่งหุ่นดินก่อน หรือปั้มสองครั้ง คือปั้มทำหุ่น และปั้มทำพระ หรือเกิดจาก เนื้อวัสดุร่วนและแข็งไป
ขอบพระแตก จากการหยิบพระออกจากแม่พิมพ์ผิดวิธี จากแม่พิมพ์ที่กดไม่แน่น จากเนื้อดินที่วางตรงกลาง เวลากดดินถูกรีดไปอยู่ด้วยข้าง แต่ดินไม่พอ จะมีเนื้อหลวม ขอบพระจึงไม่แข็งแรง แตกหักได้ง่าย เวลาดันออกหรือขณะหยิบ
องค์พระบิด อาจเกิดจาก การวางแม่พิมพ์เอียง ดินเหลว การหยิบพระออกมา ทำให้พระเอียงบิด วางพระบนพื้นที่เอียง หรือไม่เรียบเสมอ
ผิวหน้าพระไม่เรียบ ขรุขระ เป็นเส้น สาเหตุเกิดการการอัดไม่แน่น ปกติจะวางแม่พิมพ์หน้าพระอยู่ชิ้นล่าง แก้โดยการทำหุ่นแท่งดินก่อน บางครั้งเนื้อดินแข็งกดอย่างไรก็เป็นลายแตก บางครั้งอาจแก้โดยใช้ดินสอพองผสมลงไปในสูตรทำพระด้วย
รูปร่างองค์พระไม่สวย ให้ดูที่แม่พิมพ์ อาจสึกหรอ หรือสนิมจับ ออกแบบความลึกมากไป ไม่สัมพันธ์กับความเอียง ที่สามารถถอดได้ง่าย
องค์พระติดแม่พิมพ์ ผสมผงไม่เหนียวพอ ให้ไปกวนด้วยเครื่องผสมใหม่ หรือใช้ครกและสากตำนวดให้เหนียวก่อนขึ้นรูป หรือลองปรับสูตรน้ำมันตังอิ้วดู หากแก้ไม่ได้ ให้ลองใช้กาวลากเท๊กซ์ช่วยเพิ่มความเหนียว หรือเพิ่มน้ำมันตังอิ้วเพิ่มความเหนียว
4. สรุปส่งท้าย
การพิมพ์พระนั้น ในสมัยโบราณ จะมีพิธีกรรม คนพิมพ์ต้องนุ่งขาวห่มขาว ถือศีล 8 หาฤกษ์ยามเวลาที่เป็นมงคล และมักกดพิมพ์กันที่วัด ตลอดเวลาที่พิมพ์ แต่เดี๋ยวนี้เริ่มทำที่บ้าน หรือโรงงานในบ้าน และการทำพระก็คิดว่าเหมือนการทำงานทั่วๆ ไป

การปั้นและการหล่อ ยางพาราหล่อแบบ


ลักษณะทั่วไป
การปั้นและการหล่อ มักจะทำเป็นขั้นตอนต่อเนื่องกันไป โดยเริ่มต้นที่การปั้น เป็นการขึ้นรูปทรงที่สามารถสร้างรายละเอียดต่าง ๆ ให้กับแบบได้ดีกว่าวิธีัีการอื่น ๆ จากนั้นทำแม่พิมพ์จากผลงานที่ปั้น การทำแม่พิมพ์มีความสำคัญอยู่ 2
ประการ
คือ เป็นการเพิ่มจำนวนชิ้นงานที่มีลักษณะเหมือนกันทุกประการ 2 ชิ้นและเป็นการเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ปั้นขึ้นรูปให้เป็นวัสดุอย่างอื่น
ที่มีความคงทนมากขึ้น แม่พิมพ์ที่ใช้ในการหล่อ ปูนปลาสเตอร์โดยทั่วไปมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ แม่พิมพ์ยางพารา แม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ เป็นต้นแม่พิมพ์ยางเป็นแม่พิมพ์อย่างง่าย เหมาะสำหรับแบบที่เป็นรูปนูนต่ำ นูนสูง หรือรูปลอยตัวที่ไม่มีรายละเอียดมากนัก แม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์มักมี 2 ชนิด คือ แม่พิมพ์ทุบ กับแม่พิมพ์ชิ้น แม่พิมพ์ทุบ คือแม่พิมพ์ที่ใช้หล่องานได้ครั้งเดียว เมื่อจะแกะงานจะทุบแม่พิมพ์เพื่อนำเอางานออกมา แม่พิมพ์ชิ้นคือแม่พิมพ์แยกส่วนเป็นชิ้น ๆ หลายชิ้น และ สามารถหล่องานได้หลาย ๆ ครั้ง

งานที่มอบหมาย
ให้นักเรียนปั้นรูปนูนต่ำ หรือนูนสูง โดยใช้ดินน้ำมัน ขนาด 2 ก้อน(ใหญ่) ปั้นรูป โดยเลือกหัวข้องานตามที่กำหนดให้ต่อไปนี้
- รูปอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียน
- รูปลวดลายไทย
- รูปดอกไม้ (แบบเหมือนจริงตามธรรมชาติ)
- รูปตัวอักษรและสัญลักษณ์แทนตัวเอง
โดยปั้นรูปให้อยู่บนฐานดินน้ำมัน ขนาด 4 x 4 นิ้ว หรือใกล้เคียง ความหนาของฐานเท่ากับ 1/2 นิ้ว ตัวฐานจะเป็นรูปทรงอย่างไรก็ได้ เช่น สี่เหลี่ยม วงกลม วงรี หรือรูปทรงอิสระต่าง ๆ
เมื่อปั้นขึ้นรูปทรงเสร็จแล้วให้ทำแม่พิมพ์จากงานที่ปั้นโดยใช้ยางพาราหล่อแบบ จากนั้นนำไปหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ จำนวน 2 ชิ้น ขัดตกแต่งให้เรียบร้อย แล้วระบายสีให้สวยงาม เคลือบด้วยแลคเกอร์เคลือบเงา จากนั้นนำส่งครู

วัสดุ อุปกรณ์
1. ดินน้ำมัน
2. เครื่องมือปั้น
3. แผ่นรองปั้น
4. ปูนปลาสเตอร์
5. ขันน้ำ หรือภาชนะสำหรับผสมปูน
6. ยางพาราสำหรับหล่อแบบ
7. พู่กัน
8. เครื่องมือแกะสลัก
9. กระดาษทรายน้ำ
10. สีสำหรับใช้ระบาย ตกแต่งชิ้นงาน
11. แลคเกอร์เคลือบเงา

ขั้นตอนและวิธีการปั้น
1. เตรียมดินน้ำมันที่จะใช้ปั้น ใช้ดินน้ำมันขนาดก้อนใหญ่ 2 ก้อนนวดเข้าด้วยกันให้เป็นเนื้อเดียวกัน
2. เตรียมฐานงานปั้นโดยแบ่งดินน้ำมันออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกนำมาทำฐานโดยนวดดินน้ำมันให้เป็นแผ่น ให้มีความหนาประมาณ 1/2 นิ้ว ใช้วัสดุผิวเรียบมากดให้เรียบ หรืออาจใช้เตารีด (อุ่น) รีดทับก็ได้โดยใช้กระดาษแข็งรองไว้ เพื่อให้ผิวหน้าดินน้ำมันเรียบที่สุดและมีความหนาสม่ำเสมอกัน
3. ใช้มีดคัตเตอร์ตัดดินน้ำมันตามรูปที่ต้องการบนแผ่นรองปั้น
4. ปั้นรูปนูนบนฐานที่ทำไว้ ตามแบบที่ต้องการ
5. ตกแต่งเก็บรายละเอียดของชิ้นงานปั้น
6. แต่งผิวให้เรียบหรือเป็นไปตามลักษณะที่ต้องการ
การทำแม่พิมพ์ยาง
1. ใช้พู่กัน หรือ Cotton Bud จุ่มยางพารานำมาทาให้ทั่วชิ้นงานที่ปั้นให้ทั่วทุกด้าน
2. ทิ้งให้ผิวแห้งสักพักหนึ่งแล้วทายางพาราต่อ ให้คอยสังเกตและทาเพิ่มในส่วนที่เป็นมุมหรือขอบให้มีความหนาเท่า ๆกับบริเวณอื่น ๆ
3. ทาซ้ำหลาย ๆ ชั้นประมาณ 10- 15 ชั้นจนได้ความหนาตามต้องการ
4. ทิ้งให้แห้งสนิท จากนั้น ค่อย ๆ ลอกยางพาราออกจากดินน้ำมัน ระวังอย่างให้ดินน้ำมันเีสียรูปทรงไปมาก
5. เมื่อลอกเอาแม่พิมพ์ยางพาราออกจากดินน้ำมันเสร็จแล้ว นำมาพิจารณาดูความเรียบร้อย ใช้กรรไกรตัดเล็มขอบด้านในให้เรียบร้อย หากแม่พิมพ์มีรอยขาดให้ใช้ยางพาราทาอุดแล้วทิ้งให้แห้ง
6. ตรวสภาพยางพาราดูว่าเรียบร้อยพอที่จะนำไปทำการหล่อปูนได้
7. สรวมแม่พิมพ์ทับลงไปบนดินน้ำมันที่ปั้นไว้เหมือนเดิม

การหล่อปูนปลาสเตอร์
1. ทำแท่นรองแม่พิมพ์ โดยการผสมปูนปลาสเตอร์กับน้ำ ใช้ปูนปลาสเตอร์ประมาณ 1/3 ก.ก. เริ่มแรกให้ตวงน้ำประมาณ 250 CC. เทลงในขันน้ำ จากนั้นเทปูนปลาสเตอร์ลงไปในน้ำ ใช้มือคนให้เข้ากัน คนไปเรื่อย ๆ จนข้น จากนั้นโปะปูนปลาสเตอร์ลงไปบนแม่พิมพ์ยางที่สรวมทับดินน้ำมัน
2. ใช้มือปาดปูนปลาสเตอร์ให้ผิวเรียบ ทิ้งไว้ให้แข็งตัว
3. เมื่อปูนแข็งตัวดีแล้ว หงายแท่นรองแม่พิมพ์ขึ้นมา ค่อย ๆ แกะเอาแม่พิมพ์และดินน้ำมันออกมาจากปูนปลาสเตอร์
4. แกะดินน้ำมันออกจากแม่พิมพ์
5. เตรียมหล่อชิ้นงาน โดยหงายแท่นรองแม่พิมพ์ขึ้น นำแม่พิมพ์ยางวางลงไปให้ลงล็อคพอดี
6. ผสมปูนปลาสเตอร์กับน้ำ โดยการประมาณให้ปูนมากกว่าน้ำ ตวงน้ำใส่ในขันน้ำหรือ ภาชนะที่เตรียมไว้
7. เทปูนลงไปในน้ำ ใช้มือคนให้เข้ากันจนข้น แล้วเทปูนลงไปในแม่พิมพ์ยางจนเต็ม ระวังอย่าให้ล้นออกมามาก
8. ทิ้งไว้ให้ปูนปลาสเตอร์แข็งตัวดี
9. ค่อย ๆ แ่กะแม่พิมพ์ออกมาจากแท่นรองพิมพ์ ค่อย ๆ แกะลอกยางพาราออกมาจากชิ้นงานที่หล่อ
10. ทำความสะอาดยางพารา แล้วหล่องานอีกชิ้นหนึ่ง

การตกแต่งชิ้นงาน
ขั้นที่ 1 นำชิ้นงานที่หล่อแล้วมาพิจารณา หามีรูโหว่ที่เกิดจากฟองอากาศให้ใช้ปูนปลาสเตอร์ผสมน้ำอุดให้เรียบร้อย
ขั้นที่ 2 ใช้เครื่องมือแกะสลักแกะตกแต่งขอบหรือลวดลาย ให้ชัดเจนและอยู่สภาพเรียบร้อยได้รูปทรงที่สวยงาม
ขั้นที่ 3 ตกแต่งผิวให้เรียบ หรือขัดให้เรียบด้วยกระดาษทรายน้ำ
ขั้นที่ 4 ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วนำไประบายสีให้สวยงาม สีที่นาำมาใช้ได้ ได้แก่ สีน้ำ สีโปสเตอร์ สีสเปรย์ื สีอะครีลิค สีน้ำมัน หรือ สีน้ำพลาสติก
ขั้นที่ 5 ใช้แลคเกอร์สเปรย์พ่นเคลือบเงาให้สวยงาม

ขอบคุณภาพจากเวป
http://ltakung.exteen.com
สำหรับการทำแม่พิมพ์ด้วยน้ำยาซิลิโคนมีขั้นตอนดังนี้

1. ยึดตนแบบไว้กับแผ่นวัสดุเรียบ อาจใช้กาวก็ได้
2. เท ซิลิโคน ลงในถ้วยผสม ผสมตัวทำให้แข็งลงไป 2-5 % คนเข้ากัน แล้วใช้พู่กันทาไปบนต้นแบบ โดยให้เลยมาถึงฐาน เป็นปีกเล็กน้อย ทาทับเป็นชั้นๆจนซิลิโคนเริ่มแข็งจึงหยุดทา ปกติจะทาให้หนาเพียง 1 มม.ก็พอ ทิ้งให้ซิลิโคนให้แข็งตัว 3 ชั่วโมง หรือ อาจทาทับเบื้องต้นให้ซิลิโคนเคลือบบางๆ แล้วจึงเทราดยางซิลิโคนลงบนต้นแบบตรงจุดสูงสุด แล้วคอย ใช้ไม้หรือพู่กันคอยปาดส่วนที่ไหลลงมาให้ขึ้นไปบนต้นแบบให้ได้หนาที่สุด (สำหรับตุ๊กตาตัวเล็กๆใช้ซิลิโคน60กรัม ต่อตัวทำแข็ง 18-25 หยดก็พอ)
3. นำกรอบหล่อพิมพ์ (ท่อเอสลอน หรือ ขวดน้ำดื่มมาตัด) มาครอบ อาจใช้ดินน้ำมันอุดรูรั่วตรงรอยต่อพื้น
ผสมปูนปลาสเตอร์กับน้ำ 2 :1 เทลงในพิมพ์ทับซิลิโคนที่เคลือบอยู่บนต้นแบบ ให้ท่วมต้นแบบหนา1-2 ซม.เพื่อเป็นตัวพิมพ์ครอบพยุงซิลิโคนทิ้งไว้จนปูนแข็งตัวจึงถอดกรอบหล่อพิมพ์ แกะเอาพิมพ์ครอบปูนปลาสเตอร์ออกไปตากแดดให้แห้งสนิท จึงนำมาประกอบกับพิมพ์ซิลิโคนตามเดิมนำไปใช้หล่อเรซิ่นตามต้องการ
หมายเหตุ
1. น้ำหนักยางซิลิโคน 50 กรัม ใช้ตัวทำแข็ง ประมาณ 2 ซี.ซี.
2. ของฝรั่งไม่ประหยัดซิลิโคนก็จะเทซิลิโคนไปบนต้นแบบเลย ไม่ต้องทา +ไม่ต้องหล่อปูนปลาสเตอร์ทับ
3.ถ้ากรณีวัสดุแง่มุมมากอาจใช้แม่พิมพ์2ชิ้นการทำแม่พิมพ์นี้ถือเป็นศาสตร์ที่ควรศึกษาเพิ่มเพราะสามารถดัดแปลงใช้กับงานศิลป เยอะมากค่ะ (สังเกตดีๆ พิมพ์2ชิ้นจะมีการล็อคไม่ให้พิมพ์เลื่อนโดยการทำให้เว้านูน-ตัวผู้ตัวเมียล็อคกันพอดี)
น้ำยาซิลิโคน ซื้อจากศึกษาภัณฑ์ได้ ชุดเล็ก 5-6ร้อยบาท หากเป็นยางพาราจะถูกขวดละ60-80 บาท แต่ต้องเทให้แห้งทับหลาย ๆครั้งและต้องเทปูนปลาสเตอร์ทับรองแบบพิมพ์ เพื่อรักษารูปทรงพิมพ์และใช้งานสะดวก

วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิธีสร้างบล๊อกปั๊มพระ

อันดับแรกการขึ้นหุ่น

สำคัญที่สุดต้องมีโต๊ะกับเก้าอี้ ถ้าสองสิ่งนี้ไม่มีจะเมื่อยขา

วัสดุ-อุปกรณ์
1.ขี้ผึ้ง เป็นขี้ผึ้งชนิดเดียวกันกับที่ใช้สำหรับหล่อพระประธาน เดิมสีออกเหลืองๆตุ่นๆ
เอาสีฝุ่นสำหรับผสมปูนซีเมนต์ผสมให้เป็นสีแดง เพื่อจะได้เห็นชัด

ขี้ผึ้งชนิดนี้ทราบว่าทำจากเทียนไขผสมชัน ทนอุณหภูมิสูงได้พอสมควร
2.แว่นขยายแบบสรวมศรีษะ

3.ตะเกียงสำหรับเผาเครื่องมือให้ร้อน หัวแร้งไฟฟ้าอีกอันก็จำเป็นจะต้องมีไว้ด้วย
>
4.เครื่องมือแกะสลัก

เมื่อหุ่นเสร็จเรียบร้อยจะมีหน้าตาแบบนี้

กั้นดินน้ำมันที่หุ่นเตรียมไว้เพื่อจะเทพิมพ์ยางเป็นขั้นตอนแรก

อุปกรณ์สำหรับเทพิมพ์ยาง เลือกใช้ยางซิลิโคน หรือ..

กระป๋องสีขาวคือซิลิโคน ส่วนขวดพลาสติคเล็กๆที่อยู่ข้างๆคือน้ำยาสำหรับผสมให้ยางแข็งตัว
สัดส่วนการผสมน้ำยากับยางถามที่ร้านจะทราบ
การเทพิมพ์รอจนกว่ายางจะแห้งสนิท อย่างน้อยๆก็3-5ชั่วโมง
ยางจะแห้งเร็วหรือช้าอยู่ที่การผสมน้ำยาทำแข็งมากหรือน้อย
เมื่อยางที่เราเทไว้แห้งดีแล้วจะมีหน้าตาแบบนี้

อย่าเพิ่งแกะพิมพ์ยางออกจากหุ่นนะครับ ต้องเทปูนปลาสเตอร์บล็อคด้านหลังพิมพ์ยางก่อน
หลังจากนั้นค่อยแกะพิมพ์ยางออกมา ก็จะมีหน้าตาแบบนี้

ทีนี้เราจะเทพิมพ์ขี้ผึ้งเป็นขั้นตอนต่อไป

ขี้ผึ้งก็อันเดียวกับที่เราใช้ปั้นหุ่นนั่นแหละ
ขั้นตอนนี้จะได้ใช้หัวแร้งไฟฟ้า ต้องเตรียมไว้ให้พร้อมก่อน

เคี่ยวขี้ผึ้งด้วยไฟอ่อนๆ คนเรื่อยๆ อย่าตั้งแช่ไว้ ไม่งั้นขี้ผึ้งจะตาย หมดสภาพได้ง่ายๆ

เทขี้ผึ้งลงในพิมพ์ยางนิดหน่อย

หัวแร้งจี้ลงไปเพื่อไล่ขี้ผึ้งให้ไหลเข้าไปทุกซอกทุกมุม ทั้งยังเป็นการไล่ฟองอากาศไปในตัวอีกด้วย

มั่นใจว่าทำได้ดีแล้ว ก็เทขี้ผึ้งลงไปให้เต็มพิมพ์

ขี้ผึ้งแห้งแล้วก็แกะออกมา จะได้หุ่นขี้ผึ้งที่เหมือนต้นแบบเป๊ะๆ


เอาหุ่นขี้ผึ้งที่ได้มากั้นดินน้ำมันอีกครั้ง เพื่อจะเทปูนเหงือกฟันปลอมลงไป


ปูนเหงือกฟันปลอมมีขายที่ร้านอุปกรณ์ทำฟัน ถ้าเลือกได้ให้เลือกชนิดC7จะดีที่สุด

ผสมปูนเหงือกฟันกับน้ำยาให้เรียบร้อย แล้วก็เทลงไป
แต่ว่าจะต้องทำเร็วๆ เพราะปูนตัวนี้ค่อนข้างแห้งเร็ว

ก่อนปูนเหงือกฟันจะแข็งตัวเต็มที่จะร้อนมาก
ฉวยโอกาสตอนนี้แหละแกะดินน้ำมันออก แล้วก็แกะขี้ผึ้งที่กำลังละลายออกไปด้วย
ใช้แปรงสีฟันเก่าๆกับน้ำมันก้าดทำความสะอาดขี้ผึ้งออกให้หมด
ก็จะได้พิมพ์ปูนเหงือกฟันตามภาพนี้

เอาพิมพ์ปูนเหงือกฟันมากั้นดินน้ำมันอีกที แล้วก็เทยางซิลิโคนลงไปเหมือนตอนที่แสดงวิธีเทในตอนต้น

พอยางแห้งดีแล้วเทปูนปลาสเตอร์บล็อคหลังไว้เหมือนเดิม
ปูนปลาสเตอร์แห้งดีแล้ว แกะพิมพ์ยางออกมา ก็จะได้หุ่นที่เป็นยางซิลิโคนตามนี้

ทีนี้เอาบล็อคข้างซึ่งทำด้วยเหล็กแผ่นหนาประมาณ1ซม.ซึ่งเราได้ทำเตรียมไว้แล้ว วางทับลงไปที่หุ่นยางซิลิโคน

ผสมปูนเหงือกฟันกับน้ำยาให้ค่อนไปทางเหลวสักหน่อย ระวังอย่าให้ข้นเกินไปจะเทยาก
ถ้าเป็นผู้ไม่เคยทำมาก่อนอาจต้องลองผิดลองถูกสักรอบ ก็จะเข้าใจเองว่าเหลวขนาดไหนจึงจะพอดี

เทปูนเหงือกฟันลงไป เทครั้งแรกนิดหน่อยก่อน เอาค็อตตอนบัดเกลี่ยปูนเร็วๆให้น้ำปูนไหลเข้าทุกซอก
ทุกมุมเพื่อไม่ให้มีฟองอากาศ เสร็จแล้วเทปูนส่วนที่เหลือลงไปให้เต็ม
ขั้นตอนนี้ต้องเร็วนะครับ


พอปูนเหงือกฟันแห้งดีแล้วก็แกะออกมา จะได้บล็อคตัวจริงสำหรับปั๊มพ์จริงแล้วครับ

ส่วนบล็อคด้านหลังพระก็ทำเหมือนกับบล็อคด้านหน้าทุกประการ

ได้บล็อคแล้วนำไปประกอบเข้าเครื่องปั๊มพ์ ใช้กาวเป็นตัวยึดบล็อคก็ได้ครับ



ขอบคุณข้อมูลดีๆ จากเวป http://forum.ampoljane.com/ สำหรับผู้ที่คิดจะสร้างพระ